2/18/09

งานวิจัย กับ สถิติ

ความหมายของการวิจัย
คำว่า วิจัย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Research” ซึ่งหมายถึง กระบวนการเสาะแสวงหาความรู้ ความจริงให้เป็นที่ปรากฏ อย่างมีหลักวิชาและมีวิธีการที่น่าเชื่อถือ โดยระบบและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ จนได้มาซึ่งคำตอบที่ถูกต้อง

ประเภทของการวิจัย
การจำแนกประเภทของการวิจัย มีหลายทฤษฎี แต่ในที่นี้จะจำแนกประเภทของการวิจัยตามสถาน-การณ์เวลาที่เกิดขึ้นใน 3 ลักษณะ ได้แก่ การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ เป็นกระบวนการแสวงหาคำตอบที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต การวิจัยเชิงบรรยาย เป็นกระบวนการแสวงหาคำตอบที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน และการวิจัยเชิงทดลอง ซึ่งเป็นกระบวนการแสวงหาคำตอบว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต


การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์
เป็นกระบวนการแสวงหาคำตอบที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ต้องมีข้อมูลหรือหลักฐานมาตรวจสอบได้ ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลปฐมภูมิ เช่น โบราณวัตถุ ภาพถ่าย รวมทั้งคำบอกเล่าจากผู้อยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ โดยตรง หรืออาจจะมาจากข้อมูลทุติยภูมิ เช่น คำบอกเล่าต่อๆ กันมา จากเอกสาร ตำรา ผลงานวิจัยในอดีต รวมทั้งคำบอกเล่าจากปากต่อปากจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง

การวิจัยเชิงบรรยาย หรือ เชิงพรรณนา (Descriptive Research)
การวิจัยเชิงบรรยาย เป็นกระบวนการแสวงหาคำตอบที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การศึกษาด้านสำมะโนประชากรของประเทศ การศึกษาพฤติกรรมหรือทัศนคติของผู้บริโภค การวิจัยเชิงบรรยาย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1.การวิจัยเชิงสำรวจ เป็นวิธีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลโดยทั่วไป เพื่อให้ทราบสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน
2.การวิจัยความสัมพันธ์ของตัวแปร เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างหรือความสัมพันธ์ของตัวแปรที่กำหนดขึ้นในงานวิจัย
3.การวิจัยพัฒนาการ เป็นการค้นหาความรู้และความเป็นจริงในด้านการพัฒนาการของสิ่งต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งแบ่งได้เป็นการศึกษาความเจริญเติบโต และการศึกษาแนวโน้ม
4.การวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นวิธีศึกษาปรากฏการณ์จากสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริงในทุก แง่มุม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจปรากฎการณ์นั้น ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ ข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งไม่สามารถวัดค่าในรูปปริมาณได้ เช่น ความรู้สึกนึกคิด ประวัติชีวิต ค่านิยมและประสบการณ์ หรือปัญหาในการดำเนินชีวิตบางประการ รวมทั้ง อุดมการณ์ต่าง ๆ

การวิจัยเชิงทดลอง
การวิจัยเชิงทดลอง เป็นกระบวนการแสวงหาคำตอบว่า อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนใหญ่มักจะใช้กับการวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์ เช่น การทดลองตัวยารักษาโรคเอดส์ในหนู แล้วสังเกตพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น การวิจัยประเภทนี้ จะเป็นการลองผิดลองถูก ลักษณะที่สำคัญของการวิจัยเชิงทดลอง คือ จะต้องมีการควบคุมตัวแปร การกระทำกับตัวแปรที่ต้องการทดลอง และการเลือกแบบแผนการทดลองที่จะต้องมีความเที่ยงตรงถูกต้องแม่นยำมากที่สุด

ลำดับขั้นตอนในการทำวิจัย
การแสวงหาคำตอบด้วยการทำวิจัย อาจมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของหัวข้องานวิจัย ประเด็นปัญหา วัตถุประสงค์ หรือขอบเขตของการวิจัยนั้น ๆ แต่โดยภาพรวมแล้ว งานวิจัยจะมีลำดับ ขั้นตอนในการทำวิจัยไม่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถกำหนดเป็นลำดับขั้นตอนในการทำวิจัย ได้ดังนี้
ขั้นที่ 1 การเลือกหัวข้องานวิจัยและกำหนดประเด็นปัญหา
ขั้นที่ 2 กำหนดวัตถุประสงค์ของงานวิจัย
ขั้นที่ 3 กำหนดประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ขั้นที่ 4 การเลือกและสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
ขั้นที่ 5 เก็บรวบรวมข้อมูล
ขั้นที่ 6 วิเคราะห์และแปลผลข้อมูล
ขั้นที่ 7 เขียนรายงานการวิจัย

โครงสร้างของการเขียนรายงานวิจัย (อย่างย่อ)
รายงานการวิจัยที่สมบูรณ์แบบ จะมีส่วนประกอบหลักอยู่ 5 บท แต่ในการเขียนรายงานการวิจัยอย่างย่อ จะไม่ทำเป็นบท และจะมีเฉพาะหัวข้อที่สำคัญ ๆ อยู่ในรายงานวิจัยฉบับนั้น

ส่วนนำ ประกอบด้วย
- ปกนอก
- ปกใน
- บทคัดย่อ

ส่วนเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย
- ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
- วัตถุประสงค์ของการวิจัย
- ขอบเขตของการวิจัย
- ประโยชน์ของผลการวิจัย
- ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
- เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
- การเก็บรวบรวมข้อมูล
- สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
- ผลของการวิจัย
- สรุปผลการวิจัย
- อภิปรายผลการวิจัย
- ข้อเสนอแนะ

ส่วนอ้างอิง ประกอบด้วย
- บรรณานุกรม
- ภาคผนวก ( แบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัย และรายงานผลที่ได้จากการใช้โปรแกรม SPSS )

งานวิจัย ไม่ยากอย่างที่คิด ^______^

No comments: